top of page
  • Black Instagram Icon

เชค ดาวูด อัลฟาตอนีย์

Pages: 1

ชีวประวัติ ชัยค์ดาวูด อัลฟาตอนีย์ ยอดนักปราชญ์แห่งปัตตานีดารุสลาม By: krudawut Date: ม.ค. 14, 2009, 10:45 PM ท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี มีนามเต็มว่า อัล อาลิม อัลลามะฮฺ อัล อารีฟ อัลร็อบบานีย์ แช็ควันดาวูด  บิน แช็ควันอับดุลเลาะฮ์ บิน แช็ควันอิดรีส อัลฟาตอนี

            บิดาของท่านมีนามว่า แช็ควันอับดุลเลาะฮ์ บุตรของท่านแช็ควันอิดรีส บุตรของ โต๊ะวันบากัร บุตรของโต๊ะกายาเปนเดก บุตรของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะ มหาราจาเรลา

            มารดาของท่านมีนามว่า วันฟาติมะห์ เป็นบุตรีของนางวัน ซาลามะห์ บุตรของโต๊ะบันดา วันชู  บุตรของโต๊ะกายา รัคนา ดีราจา บุตรของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะมหาราจาเรลา

            กล่าวได้ว่าต้นสายของท่านฝ่ายบิดาและมารดา ล้วนมาจากตระกูลของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะ มหาราจาเรลา ซึ่งเป็นอุลามาอ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกมลายู

            ถ้าสืบเชื้อสายย้อนขึ้นไปจาก ท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะ มหาราจาเรลา ก็จะพบเชื้อสายของท่าน กล่าวคือ ท่านเป็นบุตรของท่านมุสตอฟา ดาตูจัมมู หรือ ดาตูยือริง (หรือสุลต่านอับดุลฮามิด ชะห์) บุตรของสุลต่าลมุตต๊อฟฟาร วาลียุ้ลเลาะฮ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านร่อซูลุ้ลเลาะฮ์ (ซ.ล.)  หรือ ท่านแช็คฮิดายาตุ้ลเลาะฮ์                หรือรู้จักกันในนามของ ซูนัน  กูนุง  ยาตี  (เป็นอุลามาอ์ที่มีชื่อเสียงและนำศาสนาอิสลามไปเผยแผ่ที่เกาะเซเรบอน (เกาะลัมบอกอ หรือปาเล็มบัง) ชวาตะวันตก  และท่านก็เป็นต้นกำเนิดบรรดาอุลามาอ์และสุลต่านบันเตน ในชวา  พี่น้องของท่านอีกท่านหนึ่ง คือ สุลต่านบาบุ้ลเลาะฮ์  เป็นสุลต่านเตอร์เนท บิดาของสุลต่านมุตต๊อฟฟาร คือ สุลต่านอบูอับดุลเลาะฮ์ อุมดาตุดดีน หรือวันอาบู หรือวันโบตรี  ตรี หรือ เมาลานาอิดรีส ราชาจัมปา / ราชาเขมร (ค.ศ. 1471)  บิดาของท่าน คือ ท่านแช็คอาลี บุตรของท่านแช็คนูร อลัม บุตรของท่านเมาลานา แช็คญามาลุดดีน อัลอัคบาร อัลฮุซัยนี  (เมืองบูกิส  เกาะชูเลเวาซี)  บุตรของท่านแช็คอะหมัด ชะห์ (แห่งอินเดีย) บุตรของท่านแช็คอุบดุลมาลิก หรือแช็คอับดุลมูลูก (แห่งอินเดีย)  บุตรของท่านแช็คอัลวี (แห่งเมืองทาริม ฮัตรอเมาท์ (อาหรับ) บุตรของท่านแช็คอัลวี (แห่งเยเมน) ฮัตรอเมาท์)  บุตรของท่านอิหม่ามญะฟัร ซอดิก บุตรของท่านมุฮัมมัด บาเกร บุตรของท่านอิหม่ามอาลี ซัยนุ้ลอาบีดีน บุตรของท่านซัยยิดินาฮูเซ็น (หลานร่อซู้ล) บุตรที่เกิดจากท่านซัยยิดีนาอาลี บิน อบีตอเล็บ กับพระนางฟาติมะห์ บุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) 

            จากการไล่เรียงเชื่อสายของท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนีนั้น จะเห็นว่ามีเครือญาติโยงใยไปทั่วดินแดนมลายู  ชวา  เขมร (หรือจัมปา)  อินเดียและอาหรับ  แต่ที่สำคัญเชื้อสายของท่านก็มาจากท่านร่อซู้ลลุ้ลเลาะฮ์ (ซ.ล.) นั่นเอง

             สำหรับพี่น้องของท่านมีด้วยกัน  5  คน  เป็นชาย  4  คน  หญิง  1  คน คือ ท่านแช็คดาวูดเอง  แช็ควันอับดุลเลาะฮ์  แช็ควันอับดุลวาชิด  แช็ควันอิดรีส  และหญิงคนสุดท้องไม่มีผู้ใดทราบชื่อ

 ถิ่นกำเนิดและวัยเด็ก

            กรือเซะ เป็นหมู่บ้านหนึ่งติดกับบ้านปาเร๊ะ ตำบลราโหม  ปัตตานี (ขณะนั้นเรียกว่าปัตตานีดารุสสลาม) ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  7  กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของท่านแช็คดาวูด (บางท่านว่าท่านเกิดที่บ้านปาเร๊ะ) ท่านเกิดเมื่อประมาณปี ฮ.ศ. 1183  หรือ ค.ศ. 1763  (บางแห่งบอกว่า ฮ.ศ. 1133 หรือ ฮ.ศ. 1153 ยังไม่เป็นที่แน่นอน)

            ท่านผู้เฒ่าคนหนึ่งเล่าว่า มีอุลามาอ์ชาวเยเมนท่านหนึ่งไปที่กรือเซะ ปัตตานี ท่านได้พบเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นอยู่ริมหาดทราย  ท่านอุลามาอ์จึงเฝ้ามองเด็กคนหนึ่งอย่างสนใจยิ่ง  แล้วเดินเข้าไปใกล้เด็กคนนั้น พร้อมกับนำเอามือลูบไล้บนศีรษะเด็กคนนั้นอย่างน่าเอ็นดู  ปากก็ท่องบนดุอา เป็นที่น่าสงสัยแก่ชาวบ้านบริเวณนั้นยิ่งนัก  ชาวบ้านถามว่าเหตุใดท่านแช็คฯ จึงได้ให้ความสนใจเด็กคนนี้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ  ท่านอุลามาอ์ชาวเยเมนคนนั้นจึงตอบว่า เป็นความเมตตากรุณา และความประสงค์ของอัลเลาะฮ์ ที่ให้เด็กคนนี้เกิดมาเปรียบเสมือนดวงดาวที่ส่องแสงสุกสกาวเหมือนดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ และเหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงอันแรงกล้า  เขาจะได้เป็นอุลามาอ์ที่ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินยาวี (หรือมลายูในวันข้างหน้า)

            ท่านผู้เฒ่าชาวกรือเซะ ท่านนั้นยังได้กล่าวอีกว่า ท่านแช็คดาวูด มีพี่น้องด้วยกัน  5  คน ท่านเท่านั้นที่เป็นอาลิม (เคร่งครัด) มากกว่าพี่น้องคนอื่น อย่างเทียบไม่ได้ ระหว่างที่ท่านเรียนที่มหานครมักกะห์ และมาดินะห์ อยู่นานประมาณ 30 ปี  ทุกๆ คืนท่านไม่เคยหลับนอน ท่านจะนั่งแต่งตำรา กิตาบ (ตำราทางศาสนา) และทำอิบาดัตทั้งวันทั้งคืน   ขณะที่ท่านเขียนหนังสือ หากท่านเผลอหลับเราก็จะทราบได้เพราะการเขียนนั้นต่างกันเพียงเล็กน้อยกับที่ท่านเขียนในขณะที่ท่านตื่นอยู่  กล่าวคือท่านเขียนหนังสือในขณะที่ท่านตื่นอยู่ได้อย่างสะอาดเรียบร้อยสวยงามมากกว่าขณะที่ท่านเผลอหลับไป   ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่เราจะรู้จักท่านในนาม แช็คดาวูด วาลียุ้ลเลาะฮ์ หรือ แช็คดาวูด การอมัต  บ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือกว่าปกติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกรือเซะแห่งนี้ และท่านก็ถือกำเนิดที่นี่ (กรือเซะ)

            กรือเซะ  ครั้งหนึ่งเคยเป็นราชธานีของปัตตานีดารุสสลาม และเป็นที่แน่ชัดว่า กริอเซะนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของท่านเมาลานา มาลิก  อิบรอฮิม  ซึ่งต่อมาท่านได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาอิสลามในชวาตะวันออก  สุดท้ายท่านก็กลับมาถึงแก่อนิจกรรมที่กรือเซะ   ซึ่งท่านเมาลานา มาลิก อิบรอฮิม ผู้นี้ก็เป็นเชื้อสายของท่านแช็คดาวูด นั่นเอง   จึงไม่น่าสงสัยเลยว่านักเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงทั้งหลายล้วนเกี่ยวโยงเป็นเครือญาติกับท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี  และเผยแผ่ไปยังชวา และถือว่าเครือญาติของท่านกว้างใหญ่และกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเอเชียและที่อื่นๆ

            พ่อค้าชาวอาหรับท่านหนึ่ง คือ ท่านแช็คอุสมาน มีบุตรชาย  3  คน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเชื้อสายของท่านแช็คดาวูด  และคนหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเชื้อสายของท่านแช็คอะหมัด บุตรของท่านมุฮัมมัดเซน มุสตอฟา อัลฟาตอนี (ต้นตระกูล “สัสดีพันธ์”)

            บุตรชายของท่านอุสมาน ได้เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษา ที่เรียกว่า “ปอเนาะ” ที่กัวลาบือเกาะ หรือปากน้ำปัตตานี  ดังนั้นปัตตานีจึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาศานาอิสลามในแหลมมลายูในอดีตมาเป็นเวลาช้านาน  และท่านแช็คดาวูด ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการให้การศึกษาศาสนาอิสลามจนเป็นที่รู้จักของบรรดา          อุลามาอ์และนักศึกษาศาสนาโดยทั่วไปในโลกอิสลาม

            อาณาจักรลังกาสุกะ ในอดีตนั้นในตอนต้นคริสต์ศักราช การปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของอินเดีย  ศูนย์กลางอำนาจอยู่ทิศตะวันตกของแหลมมลายู คือ เมืองเคดะห์  ขณะเดียวกับฝั่งทะเลตะวันออก (ปัตตานี)  เป็นเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อค้าขายกับจีน  เขมร และชาติอื่นๆ ทำให้เมืองต่างๆ ทางฝั่งตะวันออกมีความเจริญมากกว่า

            ต่อมาหลังจาก ค.ศ. 500 ลังกาสุกะ ได้ตกอยู่ภายใต้ราชวงศ์ศรีวิชัย ศูนย์อำนาจการปกครองจึงได้ย้ายไปอยู่ทางทิศตะวันออก คือที่ปัตตานี (โกตามหาลิไกย) ต่อมาย้ายไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช  และกลับไปอยู่ที่ปัตตานีอีกจนสิ้นสุดอาณาจักรลังกาสุกะ  ในสมัยพระยาอินทรา  ศรีวังสา  ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม มีนามว่า “สุลต่านอิสมาเอล ซาห์”  ชื่อของลังกาสุกะได้สูญหายไป มีชื่อ “ปัตตานี ดารุสสลาม” ได้เกิดขึ้นแทนที่

            “ปัตตานี ดารุสสลาม ได้สูญหายไปอีก คงเหลือแต่ ปัตตานี ในปัจจุบันนั้นเอง”

            ที่อาศัยและที่พักพิงของท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี เมื่อท่านเรียนจบ ท่านมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับ  เป็นเพราะเหตุผลบางประการ ท่านจึงอาศัยอยู่ในแผ่นดินฮิยาซเป็นวาระสุดท้าย  จากการขนานนามว่า อัลฟาตอนี ในตำราทุกเล่มของท่าน บ่งบอกว่าท่านได้ประกาศตัวเองว่าท่านเป็นชาวเมืองปัตตานี  อย่างไรก็ตามท่านก็มีโอกาสเดินทางกลับมาในแหลมมลายูถึง  3  ครั้งด้วยกัน  คือ

1.      เยี่ยมสุลต่าน ซัมบัส  ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ในปี ค.ศ. 1820

2.      ร่วมสงครามในเมืองปัตตานี ในปี ค.ศ. 1832

3.      เยี่ยมเครือญาติในเมืองตรังกานู ในปี ค.ศ. 1845 – 1846

 การเคลื่อนไหว

            ภารกิจที่ท่านทำอยู่เป็นประจำก็คือ การเขียนตำรา การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บำเพ็ญฮัจญ์

            ความพยายามของท่านแช็คดาวูด ท่านได้ประสบผลสำเร็จจากการเขียนตำรับตำรา ซึ่งทุกปีท่านจะเขียนอย่างน้อย 1 ถึง 2 เล่ม สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการรักเขียนของท่าน และตำราทุกเล่มของท่าน ท่านได้เขียน ณ เมืองฮิญาซ  และตำราทุกเล่มของท่านเขียนเป็นภายาวี  แต่ชื่อตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ และท่านมักเลือกเอาคำไพเราะและสวยงามในภาษา อาทิ

1. อัรดุรรุ อัชชะสะมัน     2.  กัชฟุ้ล ฆุมมะห์         3.  อัล-ญาวาฮิร อัซซานียะห์ เป็นต้น   

ความโดดเด่นของท่านจะลึกซึ้งเข้าไปอีกหากได้สัมผัสกับการอ่านเนื้อเรื่องหรือบทความของท่าน ซึ่งจะออกมาในเชิงกวีที่สวยงามและไพเราะที่ดึงดูดอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน กล่าวได้ว่า  แช็คดาวูด อัลฟาตอนี เป็นนักเขียนตำราภาษายาวีที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19  เพราะตำราของท่านมีไม่น้อยกว่า 30  เล่ม  ซึ่งครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้าน  เตาฮีด  ฟิกฮ์  ตะเซาวุฟ  อัลฮาดิษ หรือประวัติศาสตร์ และอื่นๆ (จนถึงขณะนี้เราไม่สามารถบอกจำนวนตำราของท่านที่แน่นอนได้  ถึงแม้บางคนจะบอกว่ามีจำนวนมากถึง  89  เล่ม  แต่บางคนก็บอกว่ามีถึง  120  เล่ม

ตำราของท่านในช่วงต้นๆ ได้ถูกตีพิมพ์ในนครมักกะห์  อียิปต์   อิสดันบูล   บอมเบย์  แต่ในช่วงหนึ่งก็ได้ถูกตีพิมพ์อีกที่เมืองสุระบาย  ประเทศอินโดนีเซีย  สิงค์โปร์  ปีนัง และบางประเทศ  กระนั้นก็ตามตำราบางเล่มของท่านเป็นที่หายากมาก

 ตำราของท่าน

            ได้มีการรวบรวมตำรับตำราบางเล่มที่มีชื่อเสียงของท่าน โดยเรียบเรียงตามวัน เดือน ปี ที่ท่านเขียน  คือ

1.)         กิฟายัต  อัลมุฮฺตัล  (27 / 01 / ฮ.ศ. 1224  ตรงกับ 14 / 03 / ค.ศ. 1809)

2.)         อิดอฮฺ  อัลบาน  (09 / 03 1224)

3.)         ฆอยัด  อัต-ตักรีบ  (05 / 02 / 1226)

4.)         นีฮจฺ  อัร-รอฆีบีน  (1226)

5.)         มุลุฆ อัล-มารอน  (1227)

6.)         ฆอยัต อัล-มารอน  (05 / 11 / 1229) 

7.)         อัค-ดุรรฺ อัส-สะมีน  (07 / 10 / 1232)

8.)         ตะเซาวุฟ  (15 / 09 / 1232)

9.)         กัซฟฺ อัล-ฆุมมะฮฺ  (20 / 03 / ฮ.ศ. 1283)

10.)           ญัมอฺ อัล-ฟะวาฮีด (27 / 05 / 1239)

11.)           กันซู อัล-มีนาน  (23 / 04 / 1240)

12.)           มินฮัจ อัล-อาบีดีน  (15 / 06 / 1240)

13.)           มุนยัต อัล-มุซอลลี  (15 / 12 / 1242)

14.)           ฮิดายัต อัล-มุตรออัลลิม  (12 / 06 / 1244)

15.)           อาดีตะตุล ศาวาฮัร  (24 / 02 1248)

16.)           อัซ-ซาวฮีร  (09 / 07 / 1248)

17.)           ฟัตฮฺ อัล-มีนาน  (16 / 09 / 1249)

18.)           มุซากาเราะฮ์  อัล-อิศวาน  (25 / 09 / 1249)

19.)           อัล-ญาวาฮีร อัซ-ซาบียะห์  (16 / 05 / 1252)

20.)           ซุลัม อัลมุมตาดี  (13 / 07 / 1252)

21.)           ฟูรุอฺ อัล-มาซาอีล  (1254-1257)

22.)           อัลบีฮจัต อัซ-ซานียะห์  (06 / 02 / 1258)

23.)           อัลบีฮจีต วัรดียะห์  (01 / 09 / 1258)

24.)           อัลบีฮจัต  (14 / 10 / 1259)

ตำราบางเล่มไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวัน เดือน ปี ที่เขียน เช่น

25.)           บุฆยัติ อัต-ตุลลาบ

26.)           ดียาอฺ อัล-มูรีด

27.)           อัล-ซาริด วัซ-ซาบาอีฮ

28.)           ฮิรซาต อัล อัตฟาล

29.)           ซีฟัต วอ

30.)           ซีเราะฮฺ บารี ยูซุฟ

 กิจกรรมการเรียนการสอน

            นอกจากจะเขียนตำรับตำราแล้ว ท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี ยังได้ทำการสอนในที่ต่างๆ เช่น มัสยิด อัลฮารอม  การเรียนการสอนของท่านมีผู้เข้าร่วมอย่างมากมายจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือผู้บำเพ็ญฮัจญ์ ในจำนวนลูกศิษย์ของท่านก็มี

1.      แช็คอับดุลมาลิด บิน อีซา ตารับกานู

2.      แช็คฮาซัน บิน อิสฮาก

3.      แช็คตวนมูซา กลันตัน

4.      แช็คอิสมาอีล บิน อับดุลเลาะฮ์ มีนังกาเบา

5.      แช็คอะหมัดคอตีบ บิน อับดุลฆ็อฟฟาร ซัมบาส  เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านยังเป็นครูรุ่นแรกที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาบำเพ็ญฮัจญ์โดยท่านได้ชื่อในนครมาดินะห์ในปี ฮ.ศ. 1240  เพื่อกิจการฮัจญ์โดยเฉพาะ  ซึ่งได้  รับการสนับสนุนจากท่านแช็คตวนมูซา ผู้เป็นญาติจากเมืองปัตตานี

การเสียชีวิต

ท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เดือนรอยับ ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 1263  สิริรวมอายุได้ 80 ปี และถูกฝังยังข้างสุสานของท่านอับดุลเลาะฮ์ อิบนิอับบาส

กล่าวโดยสรุป  แช็คดาวูด อัลฟาตอนี  เกิดที่เมืองปัตตานี  อาศัยอยู่ที่เมืองมักกะห์ และเสียชีวิตที่ตออีฟ

ขอเอกองค์อัลเลาะฮ์ (ซบ.) เจ้า ทรงตอบแทนในคุณงามความดีของท่านที่ได้พยายามมุมานะ ทุ่มเท และเสียสละเพื่อประโยชน์แก่โลกอิสลามสืบไป

วัลลอฮุอะลัม Re: ชีวประวัติ ชัยค์ดาวูด อัลฟาตอนีย์ ยอดนักปราชญ์แห่งปัตตานีดารุสลาม By: Al Fatoni


 
 
 

Recent Posts

See All
Himpunan kitab PDF

https://drive.google.com/drive/mobile/folders/1hHefiAfgtMB1CDrVgvIOpQWqbOPUOyGC

 
 
 

Comments


bottom of page